ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
1 ตุลาคม 2564

887


                    เกาะพระทอง   มีลักษณะเป็นที่ราบสันดอนทรายเนื้อที่กว้างใหญ่ เกิดจากการทับถมของตะกอนทรายที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมและกระแสน้ำทะเล    นอกจากนั้นยังเกิดจากการทับถมของตะกอนจากเทือกเขาสูงฝั่งตะวันออกที่ถูกกระแสน้ำพัดพาเคลื่อนที่มาตามแม่น้ำ และลำคลองสายต่าง ๆ จากเทือกเขาสูงฝั่งตะวันออกมารวมตัวกันบริเวณนี้ ในด้านพืชพันธุ์พบว่าเกาะพระทองประกอบด้วยสังคมพืชทั้งที่เป็นป่าชายเลน ป่าชายหาด   ป่าพรุ และทุ่งหญ้าสลับป่าเสม็ดเนื้อที่กว้างใหญ่ ตัวเกาะมีลำคลองมากมายหลายสายไหลตัดผ่านเข้าไปภายใน เช่น คลองชาด คลองห้างสูง คลองปิหลัง คลองสะยาเหนือ คลองสะยาใต้ ฯลฯ  ซึ่งระดับน้ำในคลองเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำทะเล ในบริเวณนี้จะพบสังคมพืชที่สำคัญ คือ ป่าชายเลน  พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะพูน เป็นต้น

                   เกาะระ  มีลักษณะเป็นภูเขาหินตะกอนชนิดหินทรายและหินทรายแป้ง มีหินกรวดมน หินดินดาน  และหินโคลนแทรกสลับชั้น   โดยในทางธรณีวิทยาจัดให้เป็นหินชุดแก่งกระจาน หน่วยหินในยุคคาร์นิเฟอรัสต่อกับยุคดีโวเนียน ยอดเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ  235 เมตรในด้านสังคมพืชพบว่ามีบริเวณที่ลาดเชิงเขามีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่เป็นไม้เด่น เช่น ยางยูง ยางปราย ขันทอง ไม้เรือนยอดมาเช่น  มะปริง มะส้าน เลือดกวาง มะไฟป่า เป็นต้น

                    เกาะทุ่งทุ  มีลักษณะเป็นที่ราบต่ำคล้ายกับเกาะพระทองมีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่มีลำคลองซึ่งได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลไหลตัดผ่านเข้าไปในตัวเกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าชายเลนและป่าทดแทน

                   หมู่เกาะสุรินทร์ มีลักษณะภูมิประเทศสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลม สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่าเนี้อเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์อื่นๆ ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแบบ Semidiurnal คือ น้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดอาจถึง 3 เมตร ทำให้มีกระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ เรียกว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

                   หมู่เกาะสิมิลัน มีลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาค ทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง